Sunday, September 17, 2006

Internet Crime

ในยุคของเศรษฐกิจแห่งปัญญาและการเรียนรู้ ได้เกิดสภาวะของความเหลื่อมล้ำ ในความสามารถและโอกาสของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นผลให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้มีข่าวสาร และผู้ไร้ข่าวสาร หรือ ช่องว่างทางดิจิทัล เป็นผลเนื่องจากการแพร่กระจายของเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังประชาคมโลกที่ไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ชัดมากระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศที่กำลังพัฒนา

และด้วยเหตุนี้เอง ภาครัฐของไทยจึงหันมาใช้นโยบายการส่งเสริม หรือ "ทั้งผลัก ทั้งดัน" ให้คนไทยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงอินเทอร์เน็ต ไปใช้งานอย่างเต็มที่ โดยหวังที่จะลบช่องว่างแห่งความรู้ระหว่างคนให้หมดไป และด้วยความรีบร้อน และมองภาพเทคโนโลยียุคใหม่เพียง "ด้านบวก" เป็นหลัก โดยไม่ให้ข้อเท็จจริงในด้านลบควบคู่ไปด้วย

ยิ่งกว่านั้น นักพัฒนา “เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต” ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ ให้ก้าวหน้าไปเร็ว ง่ายต่อการใช้ง่าย แต่ยากและซับซ้อนต่อการตรวจสอบมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง แต่ก็ถือว่าได้ผลในด้านการเพิ่มปริมาณผู้ใช้

ทั้งนี้ เพราะในเวลาไม่นานมาก การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ในไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วกว่า 13 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 33 ล้านคน และด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ใช้นี้เอง ทำให้นักฉวยโอกาส หรือพวกที่ต้องการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางทำกิน ก็เริ่มแสดงตนออกมา

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พบว่าพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 3-4 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นใช้งานอีเมลประมาณ 70% และใช้งานด้านข้อมูลข่าวสาร 30% และที่สำคัญมีอีเมลจำนวนไม่น้อยกว่า 50% ที่ถือเป็นเมลขยะ หรือเมลที่มีการชักนำไปในทางที่เสื่อมเสีย และยากแก่การตรวจสอบอย่างยิ่ง เพราะปกติแล้วอีเมลนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ที่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือใครจะเข้าไปตรวจสอบได้อยู่แล้ว

ส่วนผลที่ตามมาในเวลานี้คือ มีนักการค้าหัวใสจำนวนไม่น้อย หันมาใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางทำธุรกิจ หรือหาเงิน เริ่มตั้งแต่ การขายบริการทางเพศ การเล่นการพนัน การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตหลอกลวงหญิงสาว หรือเด็กไปกระทำมิดี มิร้าย หรือการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตโจมตีผู้อื่นให้เสียหาย

ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้คือ การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางสื่อสารเพื่อก่อการร้าย ซึ่งแม้แต่ละฝ่ายจะเฝ้าระวังแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว โดยเฉพาะภาครัฐ จะต้องหันมาทบทวนนโยบายผลักดันการนำเทคโนโลยีไปใช้งานอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ การใช้เทคโนโลยีควรถึงหลักคุณธรรม เหมาะสม และถูกต้อง ควบคู่ไปด้วยเสมอ จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด...

No comments: